วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ทางเลือก หรือ ทางเลี่ยง วศบ. หรือ ทลบ.

เนื่องจากหลายหน่วยงานในส่วนบริหารการศึกษาของชาติ ได้แนวคิดว่าเด็กที่จบสายอาชีพนั้นมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะเรียนวิศวกรรมศาสตร์ จึงคิดค้นหลักสูตรต่างๆขึ้นมารองรับ เช่น อสบ. ทลบ. ไม่นับรวม คอบ. เพราะกลุ่มนี้อาจจะเรียนวิศวะฯ ได้ไหว เพียงแต่มีใจอยากเป็นครู อาจารย์ แต่โดยส่วนใหญ่ จบมาก็จะมาทำงานในสายอุตสาหกรรมเหมือนคนจบวิศวะฯ มากกว่าเป็นครู อาจารย์ ดังจุดประสงค์ของหลักสูตร จะด้วยอะไรก็ตาม ด้วยความเคารพ ทุกสาขาอาชีพมีข้อดีและทำให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปได้อย่างมีความสุขเช่นกัน เพียงแต่จะยกตัวอย่างประเด็นที่ยืดเยื้อมานานนับสิบปีกับคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ "ถ้าเรียนหลักสูตร xxx แล้วจะได้รับใบ กว. หรือไม่ ต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับ ใบ กว." คำตอบง่ายที่สุดคือ "เรียนวิศวะฯ และจบตามเงื่อนไขของสภาวิศวกรฯ"

เมื่อเวลานักศึกษาทางเลือก ที่เลือกเรียนหลักสูตรดังกล่าว เรียนจบออกไปทำงานคนเหล่านี้จะเรียกตัวเองว่าวิศวกรก็ไม่เต็มปาก แม้จะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานเหมือนกับวิศวกรก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วหากต้องมีการเซ็นรับรอง ออกแบบ คุมงาน อำนวยการ ฯลฯ ตามที่กฎหมาย หรือที่สภาวิศวกรฯ กำหนด กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถดำเนินการในส่วนนี้ได้ แต่ทางสภาวิศวกรฯ ก็ได้ให้โอกาสกับผู้มีประสบการณ์สามารถขอ กว. พิเศษได้ แต่ถามจริงๆว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัทจะเลือกรับพนักงานใหม่ระหว่างคนที่มี กว. ตรง กับ กว. พิเศษ คุณจะเลือกใคร หรือคุณเป็นลูกค้า ต้องการจ้างวิศวกร ออกแบบ อะไรสักอย่าง คุณจะเลือกจ้างคนไหน กว. ตรง หรือ กว. พิเศษ 

จากกรณีดังกล่าวเพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนวิศวกรรม เพื่อจะจบออกมาเป็นวิศวกร ที่มีความสามารถ และมีจรรยาบรรณ ในวิชาชีพ จริงๆแล้วการเรียนไม่ได้ง่ายกว่ากันเลย บางวิชาเรียนตัวเดียวกัน คนสอนคนเดียวกัน เพียงแต่จำนวนวิชาน้อยกว่า หน่วยกิตทั้งหลักสูตรน้อยกว่าเท่านั้นเอง และในที่สุดน้องๆ ก็จะไปหาเรียนเพิ่มอีกไม่กี่ตัวเพื่อจะได้สอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ ใบ กว. อยู่ดี ทำไมไม่เลือกเรียนวิศวะฯ ตั้งแต่แรก หรือเมื่อมีโอกาสเรียนวิศวะฯ แล้วทำไมไม่ทำให้ดี เรียนให้จบ บางคนเรียนปี 1 เข้าๆ ออกๆ 4-5 ปี ก็ยังไม่จบ จริงๆ ถ้ายอมรับในความสามารถตัวเอง เปลี่ยนสาขาเรียนก็อาจจะได้เงินเดือนปีนึงหลายแสนบาท ตอบแทนคุณพ่อ คุณแม่ได้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น